วิธีเลือกซื้อรถ ให้เหมาะกับการใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรก หรือคันที่ 2-3 เราก็ยังต้องประเมินความต้องการในการซื้อรถอยู่ดี เพื่อการตัดสินใจที่ดีในการใช้จ่ายกับของชิ้นใหญ่ บางคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าความต้องการใช้งานที่เหมาะสมกับเรามีแบบไหนบ้าง บางอย่างเราอาจตัดสินใจด้วยการใช้คำว่า “เผื่อ” มากเกินไป จนใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองน้ำมัน หรือได้รับความลำบากจากการขับขี่
วันนี้เราเลยมีข้อควรตัดสินใจก่อนซื้อรถ และ วิธีเลือกซื้อรถ ให้เหมาะกับการใช้งาน ต้องเลือกอย่างไรบ้าง?
1. ประเมินความต้องการของตัวเอง
ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ เริ่มแรกเราต้องประเมินตัวเองก่อนว่า รถยนต์ที่ซื้อมานั้น เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานประจำวันอย่างไร? บางคนเลือกซื้อรถครอบครัว ประเภท SUV เพื่อความสะดวกสบายในการบรรทุกคนในครอบครัว บางคนเลือกซื้อรถขนาดเล็ก เพราะนำมาใช้ขับระยะใกล้ หรือขับขี่ในเมืองเสียส่วนใหญ่ เพื่อประหยัดน้ำมัน และราคาไม่แพงเกินไป
เอาล่ะ เรามาดูกันดีกว่า ว่ารถประเภทไหนที่เหมาะกับการใช้งานของเรา
- ปกติมีผู้โดยสารกี่คน?
- คุณมีรถประเภทไหนแล้วบ้าง?
- ส่วนใหญ่ใช้เดินทางภายในเมืองหรือขับข้ามจังหวัด? เพื่อคำนวนทั้งอัตราสิ้นเปลืองของน้ำมัน และอัตราเร่งต่างๆ
- จุดประสงค์ ทำไมคุณถึงอยากซื้อรถ เพื่อใช้เดินทางประจำวัน หรือบางเวลา? ยกตัวอย่าง แค่อยากมีไว้เผื่อขับออกต่างจังหวัดบ้างบางครั้ง แต่ไม่ได้ใช้ประจำ
- บรรทุกข้าวของเยอะไหม?
- ใช้เดินทางออฟโรดบ่อยแค่ไหน?
- มีที่จอดรถประมาณเท่าไหร่?
2. คำนวนว่าคุณมีกำลังจ่ายเท่าไหร่ เพื่อกำหนดงบประมาณ
หลายคนเลือกรถที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองก่อน แล้วค่อยมามองเรื่องงบประมาณ แต่บางคนก็เลือกงบประมาณที่ตัวเองพอมีกำลังจ่ายก่อนประเภทรถ แนะนำว่าควรเลือกประเภทรถที่เหมาะสมกับการใข้งานมากที่สุดนะคะ
งบประมาณที่เรามี หรือ กำลังทรัพย์ในการเลือกเป็นเจ้าของรถสักคัน ไม่ว่าจะเป็นการ ดาวน์ ผ่อนจ่าย หรือจ่ายสด ควรประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเอง หากใครที่เลือกเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดในแต่ละเดือน หักค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแล้ว ยังมีเงินเหลือพอที่จะส่งรถได้หรือไม่ และนอกจากราคารถที่เราจะซื้อแล้ว ต้องมาคำนวนงบประมาณในส่วนการซ่อมบำรุง การเช็คประจำปีต่างๆ ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อม ภาษี หรือดอกเบี้ย ควรคิดเผื่อไว้ เพื่อเตรียมเงินสำรองในส่วนนี้ด้วยค่ะ
3. ตัดสินใจให้ดีว่า การเช่ารถ หรือ ซื้อเป็นของตัวเอง แบบไหนเหมาะกับคุณ
ข้อดีข้อเสียของการซื้อรถเป็นของตัวเอง หรือการเช่าขับ จะช่วยให้คุณตัดสินใจง่ายขึ้น บางคนต้องการมีรถไว้เผื่อขับไปเที่ยวต่างจังหวัด อาจจะขับแค่ 2-3 วัน ต่อสัปดาห์ หลายคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แล้วรู้สึกว่าการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมีความสะดวกสบาย และประหยัดเวลามากกว่าการขับรถเอง ก็อาจเช่ารถมาขับเองได้ในช่วงที่ต้องการใช้งาน เพื่อประหยัดงบประมาณในการจ่ายค่าผ่อนและดอกเบี้ยในแต่ละงวด ทั้งนี้ยังช่วยลดการจ่ายค่าซ่อมบำรุงไปได้ด้วย
ส่วนใครที่มีโอกาสใช้รถเกือบทุกวัน และต้องการจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของรถ การซื้อรถก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
4. พิจารณาดูรถรุ่นอื่นๆ ในสเปคใกล้เคียงกัน เพื่อมีตัวเลือกที่มากขึ้น
สเปครถและประเภทรถที่เราต้องการ ในปัจจุบันนี้ มีหลายยี่ห้อหายแบรนด์ที่ผลิตรถยนต์คุณภาพ และรูปทรงที่แตกต่างตามความชอบของแต่ละคน ลองเปรียบเทียบรถสเปคที่เราต้องการในหายๆ แบรนด์ เพื่อให้เรามีตัวเลือก และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าชอบรูปทรงแบบไหน ราคาต่างกันเท่าไหร่ มีฟีทเจอร์อะไรที่โดดเด่น ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงรถแต่ละรุ่นก็มีแตกต่างกันไปตามสัญชาติของรถ ส่วนนี้ก็ต้องตระหนักให้ดี
เมื่อได้สเปครถที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองแล้ว บางคนอาจคิดว่าราคาเรามีกำลังจ่าย แต่ไม่ได้คำนวนถึงค่าซ่อมบำรุง การเปลี่ยนอะไหล่ที่จะตามมาหลังจากนั้น เพราะในรถบางแบรนด์ก็มีราคาอะไหร่ และการซ่อมบำรุงที่แพงกว่าแบรนด์อื่นๆ
5. ทดลองขับ
หลังจากเลือกรุ่นรถได้แล้ว ลองติดต่อทางศูนย์บริการเพื่อทดลองขับก่อน เราอาจจะลองใช้บริการทดลองขับรถแต่ละรุ่นที่เลือกมา เพื่อเปรียบเทียบ และตัดสินใจว่าชอบรุ่นไหนมากกว่าก็ได้ บางคนเลือกสเปครถที่เหมาะกับการใช้งานก็จริง แต่เมื่อลองขับจริงแล้ว อาจจะนั่งไม่สะดวก เล็กไป หรือใหญ่ไปก็มีค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน บางคนอาจซื้อเพราะชอบรูปทรง บางคนเลือกซื้อเพราะแบรนด์ เป็นความชอบของแต่ละบุคคล แต่อย่าลืมตระหนักเรื่องการใช้งาน สำหรับคนที่เลือกซื้อรถคันแรก ก็พิจารณาได้ตามหัวข้อด้านบนได้เลยค่ะ
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ : สาระน่ารู้เกี่ยวกับรถ