Chat with us!
Instagram

Mitsu RMA

เทคนิคขับรถลุยน้ำท่วมให้ปลอดภัย และวิธีดูแลรถหลังลุยน้ำ

เทคนิคขับรถลุยน้ำท่วมให้ปลอดภัย และวิธีดูแลรถหลังลุยน้ำ

เทคนิคขับรถลุยน้ำท่วมให้ปลอดภัย และวิธีดูแลรถหลังลุยน้ำ

เข้าสู่ช่วงหน้าฝนแบบนี้ ปัญหาหนึ่งที่คนใช้รถต้องเจอ คือการต้องขับรถฝ่าฝนตกและลุยน้ำท่วมสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงทั้งต่อสภาพเครื่องยนต์ และโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็มีคำแนะนำดี ๆ หากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องขับรถลุยน้ำท่วม และวิธีดูแลรถยนต์ มาฝากกันอีกเช่นเคย 

◾ สังเกตระดับน้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อตัดสินใจจะขับรถลุยน้ำท่วม นั่นก็คือการสังเกตระดับน้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่างที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ความสูงของระดับน้ำ และ ความสูงของรถยนต์ที่ขับขี่ โดยระดับที่ยังคงสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรจะสูงเกิน  30  เซนติเมตร  โดยเปรียบเทียบกับฟุตบาทที่ปกติจะมีความสูงอยู่ที่ 10 –  20  เซนติเมตร  หากระดับน้ำท่วมสูงเลยระดับฟุตบาทขึ้นมา  หรือน้ำท่วมถึงระดับขอบประตู  ไม่ควรจะขับรถลุยต่อไปในเส้นทางนั้น เพราะน้ำอาจเข้าห้องโดยสาร ส่งผลให้ระบบไฟช็อตและเครื่องยนต์อาจจะดับกลางทางได้  และควรจะเบี่ยงรถเข้าหาเลนที่มีน้ำระดับต่ำ หลีกเลี่ยงเลนที่น้ำท่วมสูง  ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงน้ำเข้าเครื่องยนต์ได้มากขึ้น

  • ระดับน้ำท่วมไม่เกิน 20 เซนติเมตร ระดับน้ำจะอยู่บริเวณครึ่งล้อของรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดกลาง และรถกระบะที่ไม่ได้ยกสูง ยังสามารถขับลุยน้ำท่วมไปได้อย่างปลอดภัย ไม่มีอันตรายกับตัวรถและเครื่องยนต์
  • ระดับน้ำท่วม 20-40 เซนติเมตร ระดับน้ำในระดับนี้จะอยู่สูงเกินครึ่งล้อรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ขนาดกลางขึ้นมา หรือสูงจากพื้นประมาณ 15-18 เซนติเมตร หากขับรถลุยน้ำผ่านไป ส่วนของท่อไอเสียจะจมหรืออยู่ในระดับเดียวกับน้ำที่ท่วมพอดี สามารถขับลุยไปได้ในระยะสั้น ๆ แต่หากเป็นระยะไกลไม่ควรจะขับลุยต่อไปเด็ดขาด
  • ระดับน้ำท่วม 40-60 เซนติเมตร รถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ขนาดกลางทุกชนิด ไม่ควรขับผ่าน แต่รถกระบะยกสูง ออฟโรด หรือโฟล์วิล ยังสามารถผ่านได้สบาย แต่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างยิ่ง
  • ระดับน้ำท่วม 60-80 เซนติเมตร รถทุกชนิดไม่ควรขับลุยน้ำไปอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำที่ท่วมสูงถึงกระโปรงรถ อาจจะไหลเข้าช่องกรองอากาศ ทำให้เครื่องยนต์ดับกลางทางได้ ส่วนรถกระบะยกสูง ออฟโรด หรือโฟล์วิล แม้จะยังสามารถขับลุยไปได้ แต่ก็อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถลุยน้ำต่อไปในเส้นทางนี้

◾ ไม่เร่งเครื่อง / ลดความเร็วลง

ในช่วงที่ฝนตก หรือต้องขับลุยน้ำท่วมขัง  รถยนต์อาจเสียการทรงตัวได้และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นการรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรจะลดความเร็วลง ไม่เร่งเครื่อง หรือเปลี่ยนความเร็วกะทันหัน โดยควรจะ ใช้ความเร็วต่ำ และให้เหยียบเบรกเบา ๆ ย้ำ ๆ ตลอดระยะเวลาที่ขับด้วยความเร็วต่ำ จะช่วยไล่น้ำและความชื้นจากเครื่องยนต์ได้

◾ ใช้เกียร์ต่ำ

ขับรถลุยน้ำด้วยการใช้เกียร์ต่ำ เพราะจะเป็นสภาวะที่เครื่องยนต์ดับได้ยากที่สุด เนื่องจากใช้รอบเครื่องยนต์ 1,500-2,000 รอบต่อนาที  สำหรับรถธรรมดาคือการใช้เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น ส่วนรถเกียร์ออโต้คือการขับด้วยเกียร์ L ซึ่งต่ำกว่านี้เครื่องยนต์อาจดับกลางทาง หรือถ้าสูงกว่านี้ก็อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าเครื่องยนต์ได้ 

◾ ปิดระบบเครื่องปรับอากาศ

ในกรณีที่น้ำท่วมไม่สูงมากหรือไม่เกิน 10 เซนติเมตร ยังสามารถใช้งานแอร์ได้ตามปกติ แต่หากระดับน้ำท่วมสูงเกิน 10 เซนติเมตรขึ้นไป ควรจะปิดแอร์ทันที และเปิดกระจกระบายอากาศ เนื่องจากใบพัดอาจพัดน้ำเข้าเครื่องยนต์ หรือระบบไฟฟ้าได้ เพราะถ้ายังคงเปิดแอร์ต่อ จะทำให้พัดลมระบายความร้อนของหม้อน้ำทำงาน เมื่อน้ำท่วมถึงพัดลม ก็จะทำให้พัดลมตีน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่องได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้รถยนต์ดับ หรือเกิดไฟฟ้าช็อตได้นั่นเอง

◾ รักษาระยะห่างคันหน้าให้มาก

 ขณะขับลุยน้ำท่วม ควรจะรักษาระยะห่างคันหน้าให้มากประมาณ 50 เมตร เนื่องจากระบบเบรกที่แช่น้ำอยู่จะมีประสิทธิภาพต่ำลง  และจะได้มองเห็นทัศนวิสัยได้ดีขึ้น สังเกตจากรถคันหน้าว่าสามารถวิ่งได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ มีหลุมหรือสิ่งกีดขวางหรือไม่ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงได้ทันเวลาไม่จวนตัวนั่นเอง

◾ หากเครื่องดับ ห้ามสตาร์ตเครื่อง

หากตัดสินใจขับรถลุยน้ำท่วมไปแล้ว แต่รถเกิดดับกลางทาง สิ่งที่ต้องทำคือเข็นรถเข้าข้างทาง ควรจะเป็นพื้นที่สูง เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่รถยนต์ ห้ามสตาร์ตรถ เพราะยิ่งสตาร์ต น้ำจะยิ่งเข้าสู่ระบบเครื่องยนต์ และทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

วิธีดูแลรถยนต์หลังลุยน้ำท่วม 

  • ไม่ดับเครื่องทันที หลังจากขับรถลุยน้ำท่วมจนมาถึงจุดหมายแล้ว ไม่ควรดับเครื่องยนต์ทันที เพราะอาจทำให้น้ำที่ค้างอยู่ที่ท่อไอเสียย้อนกลับเข้าไปได้ และความชื้นที่ยังมีอยู่อาจทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายได้ ควรจะจอดรถทิ้งไว้สักครู่ เพื่อให้น้ำที่อาจตกค้างอยู่ในหม้อพักท่อไอเสียระเหยออกมาให้หมดเสียก่อน
  • ตรวจสอบการใช้งานของเบรก ด้วยการเหยียบเบรกสัก 2-3 ครั้ง ก่อนที่จะขับรถต่อไป เพื่อช่วยให้ผ้าเบรกกับจานเบรกหรือดรัมเบรกอยู่ในสภาพปกติ  โดยรถเกียร์ออโต้  ควรย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรก  ส่วนรถเกียร์ธรรมดา  ควรย้ำคลัตช์ เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น และไม่ควรขับรถเร็วเกินไป เพื่อความปลอดภัย
  • ตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์ หากพบว่าเครื่องยนต์มีอาการผิดปกติ เช่น กระตุก เร่งเครื่องไม่ขึ้น หรือเสียงดังกว่าปกติ ควรจะจอดรถแล้วตรวจสอบทันที โดยให้ดูก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หากพบว่ามีสีขุ่นผิดปกติเหมือนกาแฟใส่นม แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จากนั้นให้ตรวจสอบกรองอากาศ หากน้ำเข้าทางนี้ กรองอากาศและท่อไอดีจะเปียก ควรจะนำรถยนต์ส่งอู่ซ่อมเพื่อให้ช่างตรวจสอบและทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหนักขึ้น 
  • ตรวจสอบระบบอีเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ตรวจสอบภายในกล่องฟิวส์ว่ามีความเสียหายหรือไม่ หากมีความเสียหายที่ฟิวส์ใดก็ควรเปลี่ยนทันที โดยอ้างอิงจากที่ฝากล่องฟิวส์รถยนต์ และดูกล่องอีซียูหากพบว่าเปียกน้ำ ให้รีบเช็ดให้แห้ง รวมไปถึงตรวจสอบไฟต่าง ๆ ภายนอกรถ หากอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ควรถอดขั้วต่อแบตเตอรี่ออก เพื่อให้ช่างได้ทำการตรวจสอบและประเมินความเสียหาย
  • ตรวจสอบภายในห้องโดยสาร ให้สังเกตที่พรมปูพื้น หากพบว่าด้านใต้พรมมีน้ำแฉะ ให้รีบนำพรมออกตากแดด ควรดูดหรือเช็ดออกให้แห้งทันที ไม่ควรทิ้งให้น้ำขังอยู่ภายในรถ เปิดประตูรถทั้งสี่ด้านเพื่อระบายอากาศ ไล่ความชื้นในห้องโดยสาร โดยในรถยนต์บางรุ่น จะมีโมดูลควบคุมถุงลมนิรภัยอยู่ที่ใต้เบาะคนขับ ควรดูแลไม่ให้มีความชื้นด้วยเช่นกัน

ป้ายกำกับ

0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่ากลับสู่ร้านค้า